Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 390/2559 ให้การต้อนรับ รมช.ศึกษาฯ กัมพูชา

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 390/2559 ให้การต้อนรับ รมช.ศึกษาฯ กัมพูชา

IMG_5851 ศึกษาธิการ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้การต้อนรับ H.E. Mr. Pit Chamnan ตำแหน่ง Secretary of State หรือเทียบเท่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬา แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และคณะ ในโอกาสเดินทางมาศึกษาดูงานกระทรวงศึกษาธิการของไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2559 ที่ห้องรับรองจันทรเกษม

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีที่ได้ต้อนรับคณะจากกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬา กัมพูชา โดยกระทรวงศึกษาธิการพร้อมที่จะแบ่งปันข้อมูลด้านบริหารจัดการการศึกษาของไทย เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการฯ กัมพูชานำข้อมูลต่าง ๆ ไปปรับใช้กับบริบทการศึกษาของกัมพูชาอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากไทยและกัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน มีอาณาเขตติดต่อกันตามแนวชายแดน และมีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน ดังนั้นเราต้องเดินไปข้างหน้าด้วยกัน

ปัจจุบัน ศธ. ได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในทุกด้าน อาทิ การบริหารจัดการงบประมาณ โดยจัดสรรงบประมาณออกเป็น 2 ส่วน คือ งบดำเนินงาน 80% และงบปฏิบัติการ 20% ซึ่ง ศธ.เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงที่สุดมากกว่ากระทรวงอื่น ๆ แต่สังคมมองว่าเด็กยังไม่เก่ง จึงต้องปรับการบริหารจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณด้านการบริหารจัดการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มากกว่า 9 แสนคน

ในส่วนของการผลิตครูนั้น ศธ.มีสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตครูทั้งหมด 98 แห่ง แต่เนื่องจากสถาบันอุดมศึกษาของไทยมีอิสระในการบริหารจัดการและมีกฎหมายเป็นของตนเอง จึงไม่สามารถเข้าไปกำกับในรายละเอียดได้ ทำให้คุณภาพการผลิตบัณฑิตที่จบออกมาเป็นครูนั้นไม่เท่ากัน อีกทั้งหลักสูตรที่ใช้ก็ยังไม่ทันสมัย ซึ่งขณะนี้มีแนวทางในการปรับหลักสูตรการผลิตครูให้สอดคล้องกับคุณลักษณะของครูในศตวรรษที่ 21 โดยให้ความสำคัญในประเด็นความรู้ จิตวิทยาเด็ก และเทคนิคการสอน เนื่องจากสิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานของความเป็นครู

นอกจากนี้ ศธ.ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพครู อาทิ การจัดอบรมครูภาษาอังกฤษตามโครงการพัฒนาครูแกนนำด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (Boot Camp) เป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ โดยเป็นการอบรมที่มีเนื้อหาเฉพาะเรื่องและตรงกับความต้องการของครู อีกทั้งมีแนวทางบริหารจัดการงบประมาณการอบรมจากเดิมที่การอบรมจะใช้งบประมาณจากส่วนกลาง ส่วนแนวทางใหม่คือการโอนงบประมาณไปให้จังหวัดจัดอบรม เนื่องจากแต่ละจังหวัดจะทราบบริบทด้านการศึกษาในจังหวัดนั้น ๆ ดีอยู่แล้ว อีกทั้งเป็นการหลีกเลี่ยงการนำครูออกนอกห้องเรียนเพื่ออบรมที่ส่วนกลาง

นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ศธ. ยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการอาชีวศึกษาด้วย เพราะอาชีวศึกษาของไทยถือเป็นแนวหน้าของอาเซียน

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการจัดทำและลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-กัมพูชา ระหว่าง ศธ. กับกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (ฉบับแก้ไข) โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559

โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบให้ พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายเกี่ยวกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้ดำเนินการในปัจจุบัน ให้กับคณะผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงศึกษาธิการฯ กัมพูชา รับฟังด้วย

H.E. Mr. Pit Chamnan รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬา แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการฯ กัมพูชา กำลังดำเนินการปฏิรูปการศึกษาซึ่งเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ โดยกระทรวงศึกษาธิการฯ กัมพูชาก็ประสบปัญหาด้านการศึกษาเช่นเดียวกับไทย อาทิ การใช้งบประมาณจำนวนมากในการบริหารจัดการ เนื่องจากมีครูในสังกัดกว่า 100,000 คน, คุณภาพการศึกษายังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี, สังคมมองว่าครูผู้สอนไม่เก่ง เป็นต้น จากปัญหาดังกล่าวทำให้กระทรวงศึกษาธิการฯ ต้องปฏิรูปการเรียนการสอนและครูไปพร้อมกัน ซึ่งจุดมุ่งหมายสำคัญที่สุด คือ กัมพูชาต้องการพัฒนาประเทศและระบบการศึกษาให้ก้าวไปข้างหน้า นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการฯ กัมพูชา ได้ให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษามาอย่างต่อเนื่องด้วยการจัดโครงการต่าง ๆ ด้านอาชีวศึกษา รวมทั้งการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีต่าง ๆ

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการฯ กัมพูชา คาดหวังว่าการศึกษาดูงานที่กระทรวงศึกษาธิการไทยในครั้งนี้ ผู้บริหารทุกท่านจะสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้ในการพัฒนาการศึกษาของกัมพูชาได้อย่างมีประสิทธิภาพและขอขอบคุณที่กระทรวงศึกษาธิการไทยที่ให้การต้อนรับและจัดเตรียมสถานที่สำหรับศึกษาดูงานอย่างเหมาะสม


อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป / รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
19/9/2559