Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 399/2559 ให้นโยบายผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั่วประเทศ

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 399/2559 ให้นโยบายผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั่วประเทศ

rcw0 

จังหวัดปทุมธานี – สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดประชุมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั่วประเทศ เพื่อติดตามผลดำเนินงานการจัดการอาชีวศึกษา ปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ในทุกมิติ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการงบประมาณตามมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ.2560 พร้อมรับนโยบายการปฏิรูปการอาชีวศึกษาและการรับนักเรียนนักศึกษาประจำปีการศึกษา 2560 จาก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายสุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กอศ.คนใหม่) รวมทั้งผู้บริหาร สอศ. และผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศกว่า 1,100 คน เข้าร่วมประชุม เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2559 ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี อำเภอเมืองปทุมธานี

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ กอศ. กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดประชุมในครั้งนี้ว่า เพื่อติดตามผลการดำเนินงานด้านการจัดการอาชีวศึกษาปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ในทุกมิติ พร้อมให้ผู้บริหารสถานศึกษารับทราบนโยบายการปฏิรูปอาชีวศึกษา อีกทั้งเป็นการซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณตามมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณปี พ.ศ.2560 ตลอดจนทบทวนแนวทางการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาเพื่อการรับนักเรียนนักศึกษาประจำปีการศึกษา 2560 ภายใต้เครือข่ายการทำงานระหว่างคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และอาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) ที่จะช่วยให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายได้จัดให้มีการบรรยายความสำเร็จของการดำเนินงานและภาระงานต่อเนื่องในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 โดยผู้บริหาร สอศ. ในหัวข้อต่างๆ อาทิ ด้านการจัดอาชีวศึกษาแบบมีส่วนร่วมรัฐและเอกชน : โดยนายอกนิษฐ์ คลังแสง รองเลขาธิการ กอศ., ด้านการพัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษา : โดยนายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการ กอศ., ด้านการบริหารจัดการ : โดยนายชาญเวช บุญประเดิม รองเลขาธิการ กอศ., ด้านการพัฒนาคุณภาพอาชีวศึกษาเอกชนและการบริหารจัดการเชิงบูรณาการเครือข่ายอาชีวศึกษารัฐและเอกชนของ กศจ. และ อศจ. : โดยนายบุญส่ง จำปาโพธิ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กอศ. และมาตรการเร่งด่วนด้านการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 และงบกระตุ้นเศรษฐกิจ : โดยสำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา สอศ.

โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายการปฏิรูปอาชีวศึกษา โดยสรุปดังนี้

– การรับนักเรียนนักศึกษา  รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในปัจจุบันจำนวนของประชากรไทยลดลงจำนวนมาก โดยคาดว่าในอนาคตจะเหลือเพียง 1.3 ซึ่งส่งผลถึงจำนวนเด็กที่จะเข้าเรียนในระบบการศึกษาลดลงด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงขอให้สถานศึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เตรียมปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ได้เคยย้ำแล้วว่าการรับผู้เรียนในสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐ ไม่ควรรับเด็กหลายครั้ง แต่ยังมีสถานศึกษาหลายแห่งที่เปิดรับมากกว่า 1 ครั้ง ทำให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาของเอกชนบางแห่งไม่มีเด็กเข้าเรียน เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเข้าใจดีว่าระบบการศึกษาอยู่ในรูปแบบการจัดสรรเงินอุดหนุนตามจำนวนรายหัวเด็ก จึงไม่แปลกที่สถานศึกษาต่าง ๆ จะพยายามดึงเด็กไว้ ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาของ สพฐ. ที่ดึงไม่ให้เด็กมาเรียนสายอาชีพ และสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐก็พยายามช้อนเด็กหลายรอบ

ทั้งนี้ แนวทางการรับนักเรียนนักศึกษาปีการศึกษา 2560 กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับทุกระดับการศึกษา จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งวางแผนการรับผู้เรียนไว้ล่วงหน้าเพื่อให้โอกาสกับเด็กทุกคน โดยเฉพาะ สอศ. ขอให้จัดสรรอัตราผู้เรียนระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในส่วนของ สพฐ. นอกจากจะต้องวางแผนการรับนักเรียนอย่างรัดกุมแล้ว ในปีการศึกษา 2560 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการรับนักเรียนของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 20 คน จำนวน 827 โรงเรียน เนื่องจากขณะนี้กำลังดำเนินโครงการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ตามโครงการ “โรงเรียนดีใกล้บ้าน” เพื่อคัดเลือกโรงเรียนแม่เหล็กมาจับคู่พัฒนาร่วมกับโรงเรียนขนาดเล็กอื่น ๆ ใกล้เคียง ซึ่งจะทำให้เกิดคุณภาพทางการศึกษาแก่นักเรียน ซึ่งจำนวนนักเรียนและโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่ 15,000 แห่งทั่วประเทศ ก็จะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ

– การผลิตกำลังคนตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0   สอศ.จะต้องขับเคลื่อนอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชนให้สามารถผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนด 10 อุตสาหกรรมที่จะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคตสอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารแห่งอนาคต 6) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม 7) อุตสาหกรรมการบินและการขนส่งขนส่งและการบิน 8) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9) อุตสาหกรรมดิจิทัล 10) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

จึงขอให้ สอศ. จัดการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางการดำเนินงานตอบโจทย์ดังกล่าว โดยเฉพาะวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องพิจารณาว่ามีสาขาใดที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมหลักใดบ้าง เพื่อจะได้จัดการศึกษาได้ตรงจุด โดยเน้นคุณภาพเป็นสำคัญ ซึ่งเชื่อมั่นว่าผู้บริหารทุกคนทำได้ และนโยบายนี้จะอยู่ในใจของผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะจะมีความชัดเจนในการผลิตคนให้เป็นไปตามทิศทางการพัฒนาประเทศ

– โครงการทวิภาคี (Dual System)    สอศ.ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคีกับสาธารณรัฐออสเตรีย ซึ่งเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านอาชีวศึกษาทวิภาคีอย่างมาก ทำให้ทราบว่าการจัดการอาชีวศึกษาของไทยได้เดินมาถูกทางแล้ว จากนี้ไปจะเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาในระบบทวิภาคี

– โครงการทวิศึกษา (Dual Education)   ซึ่งเป็นโครงการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย สอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการให้เด็กได้มีโอกาสเรียนทั้งสายสามัญและสายอาชีพ เรียกง่ายๆ ว่าเด็กสามารถเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้ ซึ่งขณะนี้มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 5 หมื่นคนแล้วในสังกัด สพฐ. สช. และ กศน. จึงขอให้ผู้บริหารจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงคุณภาพเป็นหลักด้วย

– โครงการทวิวุฒิ (Dual Degree)   เป็นการจับคู่จัดการศึกษาหลักสูตรวิชาชีพระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษาไทยกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาต่างประเทศ เมื่อจบการศึกษาจะได้รับวุฒิการศึกษา 2 ใบ จาก 2 ประเทศ ซึ่งขณะนี้ สอศ.ได้ร่วมมือกับสาธารณรัฐเกาหลีและญี่ปุ่น ในวิทยาลัยนำร่องของไทย 3 สาขาวิชา ได้แก่ การท่องเที่ยว เทคโนโลยีความงาม และเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมทั้งมีการตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ความสอดคล้องของมาตรฐานสมรรถนะตามหลักสูตรของทั้งสองประเทศ และจะต้องมีการประเมินและติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะต่อไป

– โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้   เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการปฏิรูปวิธีการสอนและวิธีการเรียน เป็นการปรับเปลี่ยนให้มีการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น หรืออาจเรียนในห้องเรียนเช่นเดิมก็ได้ แต่ปรับวิธีการจัดกิจกรรมให้มีความสนุก จูงใจให้เด็กสนใจมากขึ้น พร้อมทั้งครูจะปรับเปลี่ยนตัวเองจากการสอนเป็นผู้ควบคุมการเรียนการสอน  ซึ่งในส่วนของ สอศ. ได้มอบให้จัดกิจกรรมความรู้เกี่ยวกับการเรียนสายวิชาชีพในโรงเรียนของ สพฐ. ซึ่งที่ผ่านมายังมีผลการดำเนินงานเรื่องนี้ไม่ชัดเจนนัก เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ให้เข้าร่วมจัดกิจกรรม จึงได้มอบให้ สอศ. สรุปรวบรวมผลการดำเนินงานของวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เข้าไปให้ความรู้และแนะแนวในโรงเรียนของ สพฐ. พร้อมทั้งรวบรวมรายชื่อโรงเรียนที่ได้จับคู่ว่ามีกี่แห่ง และหากปีนี้มีโรงเรียนใดปฏิเสธการเข้าไปให้ความรู้ ก็ให้เสนอรายชื่อมายังรัฐมนตรีโดยตรง

– โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ   ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (Competitive Workforce) หรือ E2 ซึ่งมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ อาทิ โครงการ Re-Branding ที่ได้จัดประกวดออกแบบ Logo เพื่อเป็นการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของอาชีวศึกษา จึงฝากให้ สอศ. เร่งประชาสัมพันธ์ให้สังคมได้รับทราบในเรื่องนี้ด้วย, โครงการ Excellent Model School (EMS)  มีการเตรียมที่จะพัฒนาสถานศึกษาโครงการนี้ในระบบ Dual Vocational Education (DVE) นำร่องจำนวน 15 แห่งภายในปี 2560, การจัดทำ Standards & Certification Center ที่มีการกำหนดให้ทุกมาตรฐานวิชาชีพเป็นระบบเดียวกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งกระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และ สอศ. และขณะนี้ได้มีการกำหนดกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) 8 ระดับ เทียบเท่ากรอบอาเซียน (AQRF) พร้อมจะสร้างมาตรฐานดังกล่าวให้เกิดการยอมรับร่วมกันต่อไป

โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวชื่นชมและขอบคุณผู้บริหารทุกท่านที่ช่วยกันขับเคลื่อนงานปฏิรูปการศึกษาด้านอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี พร้อมขอให้เตรียมความพร้อมกับงานใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2560 โดยเฉพาะการเร่งจัดทำแผนเพื่อพัฒนากำลังคนในระดับจังหวัด

ส่วนกรณีที่สถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชนบางแห่ง ใช้เวลาจัดการเรียนการสอนน้อยกว่าปกติ ทั้งการจัดการศึกษาภายในสถานศึกษาและนอกที่ตั้ง รวมทั้งการออกวุฒิการศึกษาที่เกินขอบเขตอำนาจวิทยาลัย ประเด็นปัญหาเหล่านี้ขอเตือนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ และผู้บริหารต้องตรวจสอบไม่ให้เกิดเรื่องที่ไม่ถูกต้องขึ้น แต่หากคิดว่ากฎระเบียบเดิมล้าสมัยหรือไม่เป็นไปตามความต้องการ ขอให้นำมาหารือก่อน โดยเรื่องเหล่านี้ให้ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารสถานศึกษา


นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
23/9/2559