Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 404/2559 ผลประชุม ก.พ.อ. 5/2559

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 404/2559 ผลประชุม ก.พ.อ. 5/2559

rcw0 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ครั้งที่ 5/2559 เมื่อวันจันทร์ที่ 26 กันยายน 2559 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น 5 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ว่าที่ประชุมได้รับทราบรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และรับทราบการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และรองศาสตราจารย์ จำนวน 59 ราย

รายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตามที่คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระบบอุดมศึกษา ซึ่งมีนายถนอม อินทรกำเนิด เป็นประธาน ได้นำเสนอผลการศึกษาในประเด็นที่น่าสนใจในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ผลกระทบจากการเปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ที่มีต่อศักยภาพของอาจารย์ในด้านการผลิตผลงานวิจัย ระดับการศึกษา และตำแหน่งทางวิชาการ  ในภาพรวมพบว่ามีการเพิ่มจำนวนพนักงานมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งมีสัดส่วนจำนวนพนักงานมหาวิทยาลัยต่อจำนวนข้าราชการ คิดเป็น 25:75 แต่ในปี 2558 สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 72:28

  • ด้านศักยภาพของบุคลากรสายวิชาการ ด้านผลงานวิจัย จากฐานข้อมูลนานาชาติ Scopus ช่วงปี 2547-2556 มีการตีพิมพ์ผลงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 2,354 บทความ เป็น 9,387 บทความ หรือเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 780 บทความ/ปี ซึ่งการเพิ่มขึ้นของบทความวิจัยเกิดขึ้นอย่างคู่ขนานกับการเพิ่มขึ้นของพนักงานมหาวิทยาลัยด้วย แสดงให้เห็นว่าพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นบุคลากรกลุ่มหลักที่ผลิตผลงานวิจัย นอกจากนี้ ผลการศึกษาระบุว่าคุณภาพของบทความวิจัยก็มีคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการเปรียบเทียบจำนวนครั้งของการอ้างอิงผลงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2547 มีจำนวน 633 ครั้ง ในขณะที่ปี 2556 มีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถึง 112,053 ครั้ง

  • ด้านศักยภาพของบุคลากรสายวิชาการ ด้านระดับการศึกษา  ในภาพรวม ปี 2549 สัดส่วนคุณวุฒิของบุคลากรสายวิชาการระดับการศึกษาปริญญาตรี : โท : เอก คิดเป็น 14 : 59 : 27 และมีสัดส่วนคุณวุฒิของบุคลากรสายวิชาการเป็น 7 : 50 : 43 ในปี 2558 โดยเฉพาะจำนวนอาจารย์วุฒิปริญญาเอกในปี 2558 มีจำนวน 27,867 คน เพิ่มขึ้น 2.5 เท่าในระยะ 9 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2549 ผลจากการเพิ่มขึ้นดังกล่าวทำให้สัดส่วนอาจารย์วุฒิปริญญาเอก ต่อจำนวนอาจารย์ทั้งหมด เพิ่มจาก 27% ในปี 2549 เป็น 43% ในปี 2558

  • ด้านศักยภาพของบุคลากรสายวิชาการ ด้านตำแหน่งทางวิชาการ  ในภาพรวมจะเห็นการเพิ่มบุคลากรตำแหน่ง "อาจารย์" อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ตำแหน่งทางวิชาการอื่น ๆ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ มีจำนวนการเพิ่มค่อนข้างคงที่ ส่วนตำแหน่งศาสตราจารย์แม้จะมีจำนวนน้อย แต่ก็มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบต่อความพึงพอใจในการปฏิบัติงานและความผูกพันของบุคลากรที่มีต่อองค์กร   ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนสถานภาพ มีความผูกพันสูงกว่าข้าราชการและพนักงานตั้งแต่ต้น 2 ด้าน คือ ด้านความผูกพันต่องานที่ปฏิบัติ และความผูกพันต่อองค์กรที่ปฏิบัติงาน

ผลกระทบจากการเปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในด้านบริหารงานบุคคลและด้านงบประมาณการเงิน

  • ด้านบริหารงานบุคคล  ผลการศึกษาพบว่า "ระบบพนักงานมหาวิทยาลัย" ได้สร้างระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานไว้ในข้อบังคับการบริหารงานบุคคลของแต่ละมหาวิทยาลัยและในสัญญาจ้างงาน และผลการศึกษายังพบด้วยว่าผลกระทบจากการเลื่อนไหลบุคลากรที่มีคุณภาพจากมหาวิทยาลัยที่จัดตั้งใหม่ไปสู่มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง และจากมหาวิทยาลัยในภูมิภาคไปมหาวิทยาลัยส่วนกลาง ล้วนมีผลกระทบต่อคุณภาพมหาวิทยาลัยที่ตั้งใหม่และในภูมิภาคมีคุณภาพด้อยลงด้วย นอกจากนี้การบรรจุอาจารย์ที่เน้นระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยหลายแห่งให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยขาดการตรวจสอบในเชิงคุณภาพ ซึ่งพบว่ามหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยที่บรรจุจากผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในประเทศและต่างประเทศที่ขาดความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพ

  • ด้านการเงินและงบประมาณ  พบว่ารัฐต้องจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นในการเปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจากการเพิ่มค่าตอบแทนเป็น 1.7 เท่าของพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ และ 1.5 เท่าในสายสนับสนุน และต่อไปเมื่อมหาวิทยาลัยมีแต่พนักงานมหาวิทยาลัย รัฐจะต้องหาเงินมาเพิ่มค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากยิ่งขึ้น แต่เมื่อพนักงานมหาวิทยาลัยเกษียณจากงานแล้ว รัฐจะลดภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ด้วย ซึ่งจะต้องมีการศึกษาต่อไปว่าจะมีการลดลงเพียงใด สำหรับภาระด้านงบประมาณนั้น มหาวิทยาลัยก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับรัฐ เพราะต้องบริหารเงินที่รัฐให้มาในหมวดอุดหนุนทั่วไปและรายได้ของมหาวิทยาลัย เป็นค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น แต่รายได้จากแหล่งสำคัญ คือ เงินบำรุงการศึกษามีแนวโน้มลดลง มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องแสวงหารายได้จากแหล่งอื่น ๆ ซึ่งเป็นภาระที่กระทำได้ยากยิ่ง   อย่างไรก็ตามผลกระทบด้านบวกก็คือ การบริหารจัดการด้านการเงินในหมวดอุดหนุนทั่วไป ทำให้สามารถออกข้อบังคับและระเบียบต่าง ๆ ให้สนองตอบพันธกิจและการเปลี่ยนแปลงในสภาพการณ์ใหม่ ๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น สามารถจัดหางบประมาณมาสนับสนุนงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยเพื่อผลิตผลงาน และอาจแปลงผลงานเหล่านั้นเป็นรายได้เพิ่มเติม

ข้อเสนอของการศึกษาในครั้งนี้  มี 3 ประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

  • ให้มีพระราชบัญญัติการบริหารงานบุคคลในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกฎหมายกลางสำหรับมหาวิทยาลัยที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ เพื่อให้เกิดความสมดุล และไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคลากรในมหาวิทยาลัย

  • ให้มีระบบกลไกในการสรรหาผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้ผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำ ธรรมาภิบาล และวิสัยทัศน์ สามารถสร้างศรัทธาจากบุคลากรทุกภาคส่วน

  • ควรมีการศึกษาวิจัยเฉพาะเรื่องในเชิงลึก  เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนสถานภาพของมหาวิทยาลัยไทย ที่มีต่อการบริหารมหาวิทยาลัยในด้านต่าง ๆ เช่น การได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ เป็นต้น

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอใน 2 ประเด็นแรก เป็นสิ่งที่ตรงใจมาก และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และมติที่ประชุมในครั้งนี้มีความเห็นเพิ่มเติม โดยประเด็นแรก : ขอให้คณะอนุกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารงานบุคคล ซึ่งเป็นกฎหมายกลางในการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศให้เสร็จสิ้น เพื่อนำเสนอที่ประชุม ก.พ.อ.ได้พิจารณาโดยเร็ว  ส่วนประเด็นที่สอง : เห็นว่าควรกำหนดระบบกลไกการสรรหาผู้บริหารที่ชัดเจนไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย และประเด็นที่สาม : ควรให้มีการศึกษาเพื่อหาคำตอบในเชิงลึก ซึ่งต้องเน้นผลการดำเนินงานที่มีผลโดยตรงต่อคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยขอให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อศึกษาวิจัยเชิงลึกต่อไป


รับทราบการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และรองศาสตราจารย์ 59 ราย

ที่ประชุมรับทราบการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ และให้ความเห็นชอบการได้รับเงินประจำตำแหน่งดังกล่าว จำนวน 59 ราย ดังนี้

สถาบัน ผศ.
(ราย)
รศ.
(ราย)
รวม

1) สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (เดิม)

19 16 35

2) มหาวิทยาลัยราชภัฏ

6 4 10

3) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

14 14

รวม

39 20 59


ส่วนหนึ่งของคณะกรรมการ ก.พ.อ. ที่เข้าร่วมประชุม


ภายหลังประชุม รมว.ศธ.ในนามคณะกรรมการ ก.พ.อ. ได้มอบของที่ระลึกแด่
นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. และ น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการ กกอ.
ซึ่งทั้งสองท่านเป็นคณะกรรมการใน ก.พ.อ. ที่จะเกษียณอายุราชการในปีนี้
และมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีต่อ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการ กกอ.
ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


คณะกรรมการ ก.พ.อ. และผู้บริหาร สกอ. ที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้


บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สกอ. : ถ่ายภาพ
26/9/2559