Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 415/2559 รมว.ศธ.เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาเอเปค ที่เปรู

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 415/2559 รมว.ศธ.เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาเอเปค ที่เปรู

cats1 สาธารณรัฐเปรู พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาเอเปค ครั้งที่ 6 (6th APEC Education Ministerial Meeting) ระหว่างวันที่ 3-8 ตุลาคม 2559 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม 2559 รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้กล่าวสุนทรพจน์ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาเอเปค ครั้งที่ 6 ในรอบการประชุมที่ 3 หัวข้อ “การจ้างงาน : การเปลี่ยนผ่านจากการศึกษาสู่การมีงานทำ เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม” ซึ่งเป็นการหารือประเด็นสำคัญเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาล มหาวิทยาลัย สถาบันอาชีวศึกษา ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับภาคการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการจัดการศึกษาจะเป็นไปตามอุปสงค์เชิงธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมทั้งความต้องการของตลาดแรงงานในภูมิภาค โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “วิสัยทัศน์ประเทศไทย ที่มุ่งขับเคลื่อนไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นประเด็นหลักในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและความเจริญก้าวหน้าแก่ประเทศ ด้วยการส่งเสริมการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการขนส่ง

เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจ้างงาน ประเทศไทยได้กำหนด นโยบาย “Thailand 4.0” เป็นกลไกในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยการต่อยอด 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพและส่งเสริม 5 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ทิศทางการพัฒนาประเทศไทยจะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อ (Sustainable Development Goals) และกรอบปฏิบัติการด้านการศึกษา 2030 (Education 2030 Framework for Action)”

รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงการดำเนินงานด้านปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลไทย ซึ่งได้ให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพ ความเท่าเทียม โอกาส และความยั่งยืน การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน ย่อมนำมาซึ่งโอกาสที่เพิ่มมากขึ้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน อันจะนำไปสู่ความเท่าเทียมกัน ในสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน ประเทศไทยใช้งบประมาณมากกว่าร้อยละ 20 เพื่อลงทุนด้านการศึกษาที่จัดอย่างครอบคลุม มีคุณภาพ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อทุกคน ให้ผู้เรียนมีความพร้อมด้านทักษะในโลกของการทำงาน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากการศึกษาสู่การมีงานทำ โดยขอแสดงเจตนารมณ์ ดังนี้

● การสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาสำหรับทุกคน ศธ.ของไทยยังคงดำเนินนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้สนับสนุนให้มีการจัดการเรียนการสอน ที่เน้นการคิดวิเคราะห์เพื่อการแก้ปัญหา มีการปรับโครงสร้างเวลาเรียนภายใต้นโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ด้วยการลดเวลาเรียนในห้องเรียนและเพิ่มกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่เน้น 4 H’s คือ Head-ด้านสติปัญญา Heart-ด้านทัศนคติ Hand-ด้านเรียนรู้และปฏิบัติจริง Health-ด้านสุขภาพ

ศธ.ยังดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษทั่วประเทศ โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลังและยังคงให้ความสำคัญกับแผนปฏิบัติการของปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กที่มีปัญญาเลิศ และเด็กด้อยโอกาส มีจำนวนประมาณ 410,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ประมาณ 370,000 คน ที่เรียนร่วมกับเด็กปกติ ส่วนที่เหลืออยู่ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ และศูนย์การศึกษาพิเศษทั่วประเทศ โดย ศธ.ได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้โรงเรียนเหล่านี้ เพื่อให้มีการพัฒนาครูด้านการศึกษาพิเศษด้วย

นอกจากนี้ ยังได้จัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้แก่โรงเรียนกว่า 15,000 แห่ง ครอบคลุม 100% ของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล มีการเพิ่มและพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในโรงเรียน โดยรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้ครอบคลุมโรงเรียนจำนวนกว่า 30,000 แห่ง ในปี 2560 และได้ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมครูเพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ

● การส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ได้มีการปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน โดยการบูรณาการการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ STEM ในสถานศึกษาทุกแห่ง ทั้งสายสามัญและอาชีวศึกษา ภายในระยะเวลา 5 ปี

● การผลิตและพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เพื่อประสานความร่วมมือกับสถานประกอบการ โดยมีภารกิจสำคัญในการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานให้แก่ 30 กลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มอาชีพสิ่งทอ กลุ่มอาชีพโรงแรมและการท่องเที่ยว กลุ่มอาชีพเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น มีการฝึกปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ โดยมีค่าจ้างแรงงาน และใช้สัดส่วนของเวลาที่ใช้ในสถานศึกษาและสถานประกอบการ 50 : 50 ปัจจุบันมีสถาบันอาชีวศึกษา 421 แห่ง สถานประกอบการมากกว่า 21,000 แห่ง และนักเรียนประมาณ 114,000 คน เข้าร่วมโครงการอาชีวศึกษาทวิภาคี

สำหรับในระดับอุดมศึกษา มีมหาวิทยาลัยจำนวน 120 แห่ง และนักศึกษา 15,000 คน ที่เข้าร่วมโครงการในลักษณะนี้ และมีสถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือ จำนวน 3,800 แห่ง นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งคณะทำงานสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (Competitive Workforce) เพื่อการผลิตแรงงานให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ด้วยความร่วมมือของบริษัทเอกชนชั้นนำ 13 แห่ง ซึ่งมีภารกิจหลักที่ต้องร่วมกันดำเนินการคือ การสร้างค่านิยมหรือแรงจูงใจให้เด็กมาเรียนสายอาชีวศึกษา การสร้างอาชีวะให้มีความเป็นเลิศในแต่ละด้าน การจัดทำฐานข้อมูลความต้องการกำลังคนและการผลิต และการจัดทำมาตรฐานวิชาชีพอาชีวศึกษาเพื่อการว่าจ้างงานที่สอดคล้องกับความสามารถของแรงงาน

การจัดทำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน ระดับการศึกษา ให้ทัดเทียมกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน โดยขณะนี้ได้ดำเนินการทบทวน ปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้สถานประกอบการมีการจ่ายค่าจ้างตามสมรรถนะของฝีมือแรงงาน

● การปรับระบบการศึกษาให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้ผู้เรียนทั้งสายสามัญและสายอาชีพสามารถเรียนข้ามสายกันได้ กล่าวคือผู้จบหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ ซึ่งเทียบเท่าหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ ในขณะเดียวกัน ผู้ที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายก็สามารถศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงและรับประกาศนียบัตรได้

● โครงการทวิวุฒิ เป็นการจับคู่สถาบันอาชีวศึกษาของไทยกับต่างประเทศ ผู้เรียนจะได้รับโอกาสไปศึกษาในต่างประเทศ ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนครูและนักศึกษา เมื่อสำเร็จหลักสูตรจะได้รับวุฒิการศึกษา 2 ใบ จากทั้งสองประเทศ ขณะนี้ได้มีความร่วมมือกับบางประเทศในกลุ่มสมาชิกเอเปคแล้ว

● การพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะความพร้อมในการก้าวสู่โลกของการทำงาน โดยเน้นด้านการวิจัย มหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศเฉพาะทาง การสอนและการให้บริการชุมชน ปัจจุบันรัฐบาลไทยเพิ่มงบลงทุนงานวิจัยและพัฒนา จากเดิม 0.6% เป็น 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

● การพัฒนาหลักสูตรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดน 10 จังหวัด ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้เรียนด้านภาษาและความรู้พื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์ เช่น การตลาด การบริการด้านการผลิต การเงิน การบัญชี เครือข่ายการทำงาน รวมถึงการพัฒนาจริยธรรมในการทำงาน ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการที่ปรึกษาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานระดับกระทรวง เพื่อร่วมมือกับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวสรุปว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการปฏิรูปการศึกษา โดยได้มีการทบทวน ปรับปรุงกฎเกณฑ์ ระเบียบต่างๆ รวมทั้งเจตนารมณ์ทางการเมือง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลิตผู้เรียนที่มีศักยภาพรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในศตวรรษนี้ และขอยืนยันว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการเสริมสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยไม่ทอดทิ้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่เบื้องหลัง และยินดีจะทำงานร่วมกับเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ในการพัฒนาศักยภาพของประชาชนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป.


นงศิลินี โมสิกะ : สรุป/รายงาน
ขอบคุณข้อมูลและภาพถ่ายจาก สต.สป., ETV
7/10/2559