กระทรวงศึกษาธิการ จัดการประชุมสัมมนา
จังหวัดชลบุรี – เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2560 พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา "มิติการศึกษา พัฒนาพื้นที่พิเศษ เดินหน้าประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน อำเภอสัตหีบ
ขั้นที่ 2 ระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน เป็นการประชุมระดับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดทั้งคณะเพื่อนำแผนมาบูรณาการ รวมทั้งนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาเป็นปัจจัยประกอบการพิจารณา
ขั้นที่ 3 เป็นการประชุมเพื่อให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด และผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน รวมถึงภาคประชาสังคม ได้นำแผนมาพัฒนาเพิ่มเติมให้เกิดความสมบูรณ์
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้บรรยาย "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) กับการศึกษา" โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า การพัฒนาประเทศที่สำคัญของรัฐบาลปัจจุบัน ได้ดำเนินการตามกรอบการพัฒนาประเทศ 4 เรื่อง คือ
-
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (
Sustainable Development Goals: SDGs) ของโลก ซึ่งหาก ประเมินในเบื้องต้นตามเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) ช่วงระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.2000-2015) พบว่ามีทั้งที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จ ดังนั้น หากจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สหประชาชาติจึงได้กำหนดว่าควรตั้งต้นเรื่อง SDGs ให้เป็นระบบ เพื่อให้ SDGs ช่วยทำให้ประเทศก้าวข้ามความเสี่ยงและกับดักต่าง ๆ ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนให้ได้ โดยได้กำหนดการขับเคลื่อน SDGs ในปี ค.ศ.2016-2030 โดยมีเป้าหมาย "เพื่อเปลี่ยนโลกของเรา : วาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" พร้อมกำหนดเป้าหมาย (Goals) 17 ข้อ 169 เป้าประสงค์ (Targets)
ทั้งนี้ การศึกษาจะเกี่ยวข้องมากในเป้าหมายที่ 4 คือ "เสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้ ภายในปี พ.ศ.2573" เพื่อให้เด็กทุกคนจบประถม-มัธยมที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และไม่มีค่าใช้จ่าย, เด็กทุกคนเข้าถึงการพัฒนาการดูแลและการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมทีมีคุณภาพ, ทุกคนเข้าถึงการศึกษาอาชีวศึกษา อุดมศึกษา ที่มีราคาที่สามารถจ่ายได้และมีคุณภาพ, เพิ่มจำนวนของเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่จำเป็นต่อทักษะอาชีพสำหรับการทำงาน, ขจัดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและสร้างหลักประกันว่าทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม, เยาวชนทุกคนและผู้ใหญ่ในสัดส่วนสูง สามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้, สร้างหลักประกันว่าทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาของประเทศต้องคำนึงถึงความเสี่ยงและความท้าทายที่สำคัญของไทยใน 20 ปีข้างหน้า เช่น โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์, ข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติ, ความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงปัจจัยและเงื่อนไขภายนอกด้วย เช่น กระแสโลกาภิวัตน์, การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี, ปริมาณน้ำมันลดลง เป็นต้น -
กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ซึ่งสถานศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัด จะต้องวางแผนงานโครงการให้รองรับกรอบยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน คือ 1) ความมั่นคง 2) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3) การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ 4) การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 5) การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6) การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
-
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ซึ่งมีหลักการพัฒนาประเทศที่ยึดหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” “การพัฒนาที่ยั่งยืน” และ “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” ที่ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9-11 และยึดหลักการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดความเหลื่อมล้าและขับเคลื่อนการเจริญเติบโตจากการเพิ่มผลิตภาพการผลิตบนฐานการใช้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ของแผนพัฒนาฯ ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยเป้าหมายและตัวชี้วัดในด้านต่าง ๆ ของแผนพัฒนาฯ ได้ยึดเป้าหมายอนาคตประเทศไทยปี 2579 ที่เป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาเป็นกรอบในการกำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุใน 5 ปี และสอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย SDGs ด้วย ส่วนแนวทางการพัฒนาได้บูรณาการนโยบายหรือประเด็นพัฒนาที่สำคัญของประเด็นการปฏิรูปประเทศ 37 วาระ และ Thailand 4.0 -
Thailand 4.0 ซึ่งมีแนวคิดในการขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศไทยหลุดกับดักใน 3 เรื่อง คือ รายได้ปานกลาง ความเหลื่อมล้ำ และความไม่สมดุล เพื่อพัฒนาประเทศสู่อนาคต ให้เป็นประเทศในโลกที่หนึ่งภายในปี พ.ศ.2575
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บรรยาย เรื่อง "ดิจิทัลกับการศึกษา" โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลกับการศึกษาเพื่อสร้างกำลังคน ต้องพัฒนาควบคู่กันไป เนื่องจากการศึกษาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญระดับต้น ๆ ในการผลิตกำลังคนรุ่นใหม่ ตอบโจทย์การใช้เทคโนโลยีพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่าง ๆ ให้เจริญก้าวหน้า
จากการที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Ministry of Digital Economy and Society: DE) จัดงาน “DIGITAL THAILAND BIGBANG 2017” ภายใต้แนวคิด "โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน" ซึ่งได้รับความสนใจจากเด็กและเยาวชนจำนวนมาก และทำให้เห็นถึงความสามารถด้านเทคโนโลยีของเด็กไทย ซึ่งมีความเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันควบคุม "โดรน" ผ่านเครื่องกีดขวาง, การคิดค้นและออกแบบระบบเซ็นเซอร์เปิดปิดประตูน้ำ เพื่อบริหารจัดการที่จอดรถ และเพื่อป้องกันตู้รับบริจาคถูกขโมย เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าเด็กและเยาวชน มีพฤติกรรมความสนใจ จริต (อุปนิสัย) ตลอดจนความต้องการในการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป ในฐานะผู้บริหารการศึกษาทุกคนก็ควรที่จะต้องปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย
โดยขอฝากประเด็นสำคัญเพื่อช่วยให้การจัดการศึกษาตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนให้สอดรับกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเดินหน้าประเทศสู่ THAILAND 4.0 ดังนี้
-
การจัดการศึกษาเรียนรู้ เพื่อสร้างความหวังแก่เด็ก โดยยึด Demand side เป็นหลัก เริ่มจากการรู้ความต้องการ พฤติกรรมและจริตของเด็กในยุคนี้และสังคมสมัยใหม่ให้มากขึ้น, ปรับหลักสูตรการจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ให้มีความยืดหยุ่น สามารถพัฒนาและหลอมรวมกัน (Convergence) อย่างสมดุลกลมกลืนกันทั้งระบบ, ปรับบรรยากาศของห้องเรียนและการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างจินตนาการ สร้างแรงบันดาลใจ พร้อมออกแบบกิจกรรมที่หลากหลายให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น และเน้นปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครูมากขึ้น โดยจัดทำเป็นสื่อกลาง (Resource Education) ที่ครูทุกคนสามารถนำไปใช้ได้, ส่งเสริมการเป็น Start Up ในสาขาที่เป็นจุดเด่นและสอดรับกับบริบทของพื้นที่ นอกจากนี้ต้องทำให้เด็กรู้จักอาชีพใหม่ ๆ รวมทั้งสร้างและเผยแพร่ตัวอย่างที่ดี (Role Model) ของเด็กที่ดี ๆ ให้เด็กคนอื่น ๆ ได้เห็น ได้ทำตามอย่างด้วย
-
ปลูกฝังความรู้ ทักษะ และตรรกะด้านวิชาการต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กมีพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เหมาะกับการพัฒนาให้เด็กเกิดอัจฉริยภาพด้านต่าง ๆ ที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ได้แก่ ทักษะเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) ที่จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสังคม ด้วยสมาร์ทโฟน ผ่านระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงด้วยอินเทอร์เน็ต Wi-fi, Fiber Optics, สัญญาณดาวเทียม ตลอดจนเคเบิ้ลใต้น้ำ ทำให้เราสามารถเข้าถึงโลกทั้งใบได้ในทุกที่ทุกเวลา, สร้าง Eco System ที่เอื้ออำนวยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ องค์ความรู้ นวัตกรรม และงานวิจัยใหม่ ๆ, แสวงหาโอกาสในการเข้าร่วมเวทีแสดงออกซึ่งศักยภาพ ในรูปแบบ New Economic Platform เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจ และสร้างการสนับสนุน
-
การศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชน ด้วยระบบ e-Learning ผ่านศูนย์การเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการและศูนย์ดิจิทัลชุมชน เพื่อยกระดับรายได้ของประชาชน โดยแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยกันพัฒนาระบบที่มีคุณภาพ แบ่งงานกันทำ และร่วมบูรณาการการทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง ก็จะช่วยขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ในส่วนของ
กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 2,000 ศูนย์ และจะดำเนินการวางสาย Fiber optics เพื่อนำเครือข่ายอินเทอร์เน็ตกำลังสูงเข้าสู่หมู่บ้านทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 โดยร่วมกับโครงการประชารัฐ ที่จะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางช่องว่างด้านดิจิทัลทั่วประเทศ -
ข้อมูลด้านการศึกษา ถือเป็น Big Data หนึ่งในสามของกระทรวงที่มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ จึงขอความร่วมมือกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับข้อมูลด้านการศึกษา ทั้งจำนวนผู้เรียน จำแนกเป็นระดับการศึกษา ประเภทการศึกษา, ข้อมูลของครอบครัว รายได้ สถานะ, จำนวนครูและบุคลากร โดยเฉพาะข้อมูลในระดับอุดมศึกษา ควรมีข้อมูล "ภาวะการจ้างงาน" หลังจบการศึกษาของบัณฑิตด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญและจะเป็นตัวชี้วัดที่ช่วยวางแผนการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ โดย
กระทรวงดิจิทัลฯ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้รวบรวมข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเชื่อมโยงสู่ข้อมูลรวมเพื่อใช้ในการบริหารและพัฒนาประเทศของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยประสานงานให้เกิดการพัฒนาการศึกษา และเชื่อมโยงข้อมูลกับกระทรวงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประเด็นอื่น ๆ ของประเทศด้วย เช่น การบริหารจัดการน้ำ นโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ความมั่นคงประเทศ พัฒนาข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา หรือแม้กระทั่งเรื่องของการพัฒนาการทางสมอง (IQ)
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม บรรยายเรื่อง "เขตเศรษฐกิจพิเศษ: มิติการศึกษา"
สำหรับบุคลากรทางการศึกษานั้น มีความจำเป็นต้องรู้ว่าโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายของปัจจัยภายนอกควบคู่กับปัจจัยภายใน ยกตัวอย่างปัจจัยภายนอก เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทกับชีวิต, การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไม่เคยมีมาก่อน, การพัฒนาอินเทอร์เน็ตอย่างก้าวกระโดด เป็นต้น ส่วนปัจจัยภายใน อาทิ ความเท่าเทียม, ช่องว่างของโอกาสเข้าถึงการศึกษา, กับดักรายได้ปานกลาง เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายที่ว่าประเทศไทยจะก้าวทันความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ล้วนส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือด้วยเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกัน ในขณะเดียวกันโลกก็มีการแข่งขันกันมากขึ้นด้วย
โดยในอนาคตมีแนวโน้มว่าประเทศในโลกจะถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่เข้มแข็ง ได้แก่ ประเทศที่สามารถใช้ประโยชน์จากความร่วมมือใหม่ ๆ ที่สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศหรือความร่วมมือในประเทศ และกลุ่มประเทศที่ตามหลัง คือกลุ่มที่ประชาชนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี การศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ไม่พัฒนาเท่าที่ควร ทำให้ไม่มีโอกาสในการพัฒนาประเทศ ซึ่งสิ่งสำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยไม่อยู่ในกลุ่มประเทศที่ตามหลัง
นอกจากนี้ จากการที่มียุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และนโยบาย THAILAND 4.0 ที่เปรียบเสมือนแผนที่หรือ Roadmap ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ ทำให้พื้นที่พิเศษไม่ว่าจะเป็น
ในส่วนของ EEC ถือเป็นกลไกหลักอันหนึ่งซึ่งต่อยอดมาจากความสำเร็จของนโยบาย Eastern Seaboard ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อีกทั้งการเป็น EEC ทำให้ทราบว่าเราต้องสร้างบุคลากรอย่างไร เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งในภูมิภาคอาเซียนและทวีปเอเชีย โดยการพัฒนาพื้นที่ EEC มีเป้าหมาย คือ 1) การพัฒนาเพื่อให้เกิดความเจริญในพื้นที่ 2) การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในประเทศ 3) การสร้างความเจริญชุดใหม่ New Growth Platform 4) การขยายผลความสำเร็จไปยังพื้นที่อื่นทั่วประเทศ นอกจากนี้ EEC ไม่ได้มีความเชื่อมโยงเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แต่ยังมีเกี่ยวข้องกับสังคมและการศึกษา รวมทั้งเชื่อมโยงกับการส่งเสริมให้โครงสร้างพื้นฐานมีความเข้มแข็ง เป็นเมืองที่ได้มาตรฐานสากล ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ พัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากร
ในส่วนของการศึกษานั้น ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคนในพื้นที่ EEC ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการกำลังคนในพื้นที่ เพราะเรื่องคนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เราต้องผลิตคนให้สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และพัฒนาคนควบคู่กับการพัฒนาด้านการวิจัยและเทคโนโลยี ซึ่งโลกในยุคปัจจุบันต้องการคนที่มีทักษะ Hard Skill คือ ความรู้เชิงวิชาการ ความรู้ทางเทคโนโลยี ทักษะการบริหารจัดการเศรษฐกิจ สังคมและดิจิทัล รวมทั้ง Soft Skill ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เช่น การเรียนรู้ด้วยตนเอง และทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร มีทักษะในการคิดและเป็นผู้นำ พร้อมด้วยกระบวนการเรียนรู้สมัยใหม่ในการสร้างคนให้ตรงกับเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ เน้นความเชื่อมโยงระหว่างครูอาจารย์และนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนเตรียมความพร้อมและพัฒนาบุคลากรให้รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้วย
นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ขณะนี้ได้มีแนวทางการดำเนินโครงการ "Flex Campus" ซึ่งเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้จากประเทศญี่ปุ่นมายังบุคลากรภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและบริษัทของญี่ปุ่นกับภาคเอกชนของไทย โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นการสร้างโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาไทยได้เรียนรู้องค์ความรู้ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น และเพิ่มโอกาสในการมีงานทำ ซึ่งมีแนวทางจะขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ EEC และกำลังหารือความร่วมมือในรูปแบบ Flex Campus กับประเทศอื่นด้วย
โดยสรุปแล้วการพัฒนาในพื้นที่พิเศษ เราทุกคนต้องก้าวไปด้วยกัน ส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสอย่างทั่วถึง EEC เป็นพื้นฐานของการสร้างความเจริญ ไม่ล้าหลังประเทศอื่น และสร้างคนให้มีความพร้อมรองรับโลกยุคใหม่
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ร่วมเสวนาเกี่ยวกับการศึกษาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า จากผลการดำเนินงานของ EEC ที่ผ่านมา เชื่อว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ทราบทิศทางของประเทศไทยแล้วว่าจะเป็นไปในทางใด กล่าวคือ ขณะนี้เรามีภาพของความต้องการกำลังคนในตลาดแรงงาน (Demand) ที่ชัดเจน จึงต้องปรับให้มีการผลิตกำลังคน (Supply) ให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของประเทศ ดังนั้น เราต้องถามตัวเองว่าเราพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะความสำเร็จของการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศนั้นขึ้นอยู่กับการพัฒนาคนและระบบการศึกษาเป็นสำคัญ
ในพื้นที่ EEC มีประชากรรวมประมาณ 3 ล้านคน และมีประชากรที่อยู่ในวัยเรียนประมาณ 7 แสนคน จากการสำรวจพบว่าคนที่จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในพื้นที่ EEC เลือกที่จะไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นในสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่นอกพื้นที่ EEC โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานคร ดังนั้น เราต้องทำให้การศึกษาในพื้นที่ EEC มีคุณภาพเทียบเท่ากับสถานศึกษาในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เด็กสามารถเรียนต่อในพื้นที่ EEC ได้
นอกจากนี้ พื้นที่ EEC ทำให้เกิดการลงทุนจำนวนมาก และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเตรียมความพร้อมของเทคโนโลยีในประเทศไทย โดย EEC ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันนโยบาย THAILAND 4.0 และส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในการชี้ทิศทางว่าประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าอย่างไรและต้องการกำลังคนประเภทใดบ้าง ซึ่งพื้นที่ EEC เปรียบเสมือนเป็นห้อง Lab ที่เตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนในอนาคตข้างหน้า
สำหรับความต้องการแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ผลการสำรวจพบว่าต้องการช่างฝีมือ นายช่าง วิศวกร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักบัญชี นักกฎหมาย และผู้มีความสามารถในการบริหารจัดการ อีกทั้งยังพบว่าสถานประกอบการต้องการคนที่เป็นมืออาชีพ มีเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำงานเป็นและทำงานเป็นทีมได้ โดยสถานประกอบการพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกสถาบันการศึกษาในการผลิตกำลังคนที่มีลักษณะดังกล่าว โดยมียุทธศาสตร์ในการสนับสนุนแนวทางการดำเนินงาน คือ ส่งเสริมให้คนที่ทำงานแล้วได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติม รวมทั้งเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนระยะสั้นที่สามารถทำงานได้ทันทีหลังจบการศึกษา และนำเข้าผู้เชี่ยวชาญมาเป็นครูหรือพี่เลี้ยง
ส่วนความสามารถด้านทักษะภาษาอังกฤษ ผลการสำรวจพบว่าหลักสูตรของสถานศึกษาในพื้นที่ EEC ยังไม่ครอบคลุมและยังมีบุคลากรไม่พอเพียง อย่างไรก็ตาม ทักษะภาษาอังกฤษสำหรับผู้ที่จะมาทำงานในพื้นที่ EEC ก็มีความแตกต่างกับพื้นที่อื่น เช่น ทักษะภาษาอังกฤษสำหรับผู้ที่เรียนจบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) อาจจะไม่ให้สื่อสารได้คล่อง แต่เน้นการอ่านคู่มือหรือใช้ภาษาอังกฤษสำหรับวิชาชีพนั้น ๆ ได้
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาพบว่าการลงทุนของต่างชาติในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ได้สร้างผลดีให้กับรายได้และทักษะการทำงานของกำลังคนไทยอย่างยิ่ง จะเห็นได้จากในพื้นที่ EEC ที่มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอย่างเจริญก้าวหน้า จึงได้มีการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมกับภาคการศึกษาเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการ ในการช่วยฝึกประสบการณ์ให้กับนักเรียนนักศึกษาด้วย
ทั้งนี้ จากนี้เป็นต้นไปความคาดหมายที่มีต่อการพัฒนาพื้นที่ EEC คือ การผลิตกำลังคนในระดับการศึกษาต่าง ๆ ต้องปรับหลักสูตรระยะสั้นให้สามารถทำงานได้ทันที และวางหลักสูตรระยะยาวที่ผู้เรียนต้องรู้ตรง ทำงานได้จริง และตรงตามความต้องการในอนาคต ส่วนการศึกษาในระดับปริญญาตรี โท และเอก ต้องมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี และสามารถสื่อสารได้ 3 ภาษา ดังนั้น สถาบันการศึกษาต้องร่วมมือกับภาคเอกชนจัดหลักสูตรตามความสามารถที่พึงประสงค์ ตลอดจนร่วมกันสร้างงานวิจัยที่นำมาปฏิบัติได้จริง และก้าวไปข้างหน้าทางเทคโนโลยีไปพร้อม ๆ กัน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ บรรยายพิเศษ เรื่อง "การพัฒนาเศรษฐกิจในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ" โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ขอชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการที่เดินหน้าการศึกษาในพื้นที่พิเศษของประเทศด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมกันวางแผนการศึกษาอย่างเป็นระบบและมีขั้นตอนที่ชัดเจน ตอบโจทย์ความต้องการตามบริบทของพื้นที่ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาของประเทศต่อไป
ซึ่งการบรรยายช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าทุกคนได้รับความรู้เกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) มีความตระหนักเกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบดิจิทัล ที่มีส่วนสำคัญต่อการศึกษาในหลายด้าน ตลอดจนการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) เพื่อไปขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งในส่วนของมิติด้านเศรษฐกิจ ก็ถือเป็นส่วนสำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวข้างต้นอย่างแยกจากกันไม่ได้เช่นกัน
ต้องยอมรับว่า โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยถูกทิ้งร้างมาระยะหนึ่ง จนกระทั่งในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของไทยดีวันดีคืน เรียกได้ว่าเป็น “ภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น” โดยดูจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ มูลค่าการส่งออกเจริญเติบโตถึง 13.2% แต่เนื่องจากเรายังมีช่องว่างระหว่างกลุ่มธุรกิจฐานบน (มีขนาดใหญ่ แต่เป็นเพียงคนส่วนน้อย) ซึ่งมาพร้อมเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย กับกลุ่มธุรกิจฐานราก ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผู้รับจ้าง แรงงาน ตลอดจนข้าราชการ ที่ยังไม่สามารถเก็บประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้
ดังนั้น หากทุกคนจะช่วยกันวางแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคน รองรับการพัฒนาพื้นที่ทั้งในระดับชุมชน จังหวัด ภูมิภาค และประเทศ จะต้องมองให้เห็นถึงภาพหลักของเศรษฐกิจ มีความเข้าใจนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่รองรับกับมิติทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกด้วย โดยขอฝากแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษารองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่พิเศษ ดังนี้
-
การวางยุทธศาสตร์ทางการศึกษา เพื่อสร้างคน ดีไซน์คน ให้มีความรู้ ความเข้าใจภาคเศรษฐกิจ และมีทักษะรองรับกับโอกาสทางธุรกิจฐานบนและธุรกิจฐานราก พร้อมปรับตัวให้เท่าทันกับเด็กยุคใหม่ที่ต้องการความเป็นอิสระสูงด้วย โดยในส่วนของธุรกิจฐานราก “ต้องสร้างเศรษฐกิจของการเป็นผู้ประกอบการ” เป็นธุรกิจของคนตัวเล็ก เช่น SMEs, Start Up ให้เป็นผู้ประกอบการที่มีความรู้ มีความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างครบเครื่อง รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง สร้างมูลค่าเพิ่ม รู้ว่าช่องว่างการตลาด และสามารถพัฒนาต่อยอดได้
-
การสร้างคนสู่ยุทธศาสตร์การค้าและการบริการ Trading Nation ของอาเซียนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากจุดเด่นหรือความเป็นเลิศของการบริการ สินค้าเกษตร ตลอดจนวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย เช่น การต้อนรับขับสู้ ผลไม้เมืองร้อน นวดแผนโบราณ สปา วัฒนธรรมที่หลากหลาย สถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น และหากเป็นไปได้ ควรตั้งเป้าสู่การพัฒนาเป็น Trading Nation เช่น ทุเรียนจังหวัดจันทบุรี เป็นต้น
-
ยกระดับมูลค่าสินค้าเกษตร โดยการสร้างเกษตรกรยุคใหม่ (Smart Farmer) ภายใต้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งในระบบการเกษตรพื้นฐานไปจนถึงการเกษตรที่อาศัยการวิจัยและนวัตกรรมขั้นสูง อาทิ เพื่อเพิ่มผลผลิต ระบบออนไลน์เพื่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว เป็นต้น
-
การต่อยอดองค์ความรู้และนวัตกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ EEC เพื่อเพิ่มมูลค่าจากการผลิตสินค้าและการบริการ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลผ่าน Smart Device, Internet of Things อาทิ พัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคปัจจุบันและหลากหลาย เช่น เครื่องปรับอากาศลมไม่โดนตัว มีระบบฟอกอากาศ ช่วยประหยัดพลังงาน ผลิตจากวัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
-
การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าการเติบโตจากธุรกิจบริการ การโรงแรม ธุรกิจอาหาร ตลอดจนของที่ระลึก ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเยือนไทยถึง 35 ล้านคน จึงจำเป็นต้องต่อยอดการพัฒนาคนให้รองรับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นด้วย
-
การพัฒนาคนและพื้นที่ให้รองรับกับการพัฒนาด้านคมนาคมโลจิสติกส์ เช่น เส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงของไทย ที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะสถานีต่าง ๆ จะกลายเป็นเมืองใหม่ที่มีการพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อันส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ฝากให้การศึกษาในพื้นที่พิเศษ ติดตามสถานการณ์และความเคลื่อนไหวของเพื่อนบ้านด้วย ทั้งระบบเศรษฐกิจ การคมนาคมขนส่ง การค้าการลงทุน โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงของจีน ที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วย เพื่อจะได้เร่งวางแผนการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาจังหวัดและภูมิภาคให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และรองรับกระแส (Trends) ใหม่ ๆ ของโลก
-
การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub) ขอฝากไว้ให้ชาวกระทรวงศึกษาธิการช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรให้เราสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางการศึกษา ที่เพื่อนบ้านเข้ามาเรียนรู้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาภาคปกติ การเติมเต็มความรู้ในด้านต่าง ๆ ทั้งธุรกิจการบิน อาหารและเครื่องดื่ม แฟชั่นดีไซน์ เป็นต้น
ทั้งนี้ สิ่งที่รับฟังไปทั้งหมด แม้มีเพียงประโยคเดียวที่สามารถนำไปประยุกต์ นำไปใช้ ให้โลกทัศน์ของการวางแผนการศึกษากว้างขึ้น ก็ถือว่าการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ประสบความสำเร็จแล้ว และขอให้ทุกคนช่วยกัน ร่วมกันวางแผนยุทธศาสตร์การศึกษาพื้นที่พิเศษ “ให้เป็นแผนที่กินได้จริง ๆ”