สถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ร่วมรายการถ่ายทอดสดการเสวนาชี้แจงกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ กับการทดสอบ O-NET ปีการศึกษา 2558 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม 2559 ณ ห้องส่ง ETV ถนนศรีอยุธยา
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ มาเป็นระยะเวลากว่า 2-3 เดือนแล้ว วันนี้จึงได้มาขยายนโยบายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากระทรวงศึกษาธิการได้ดูแลและได้แก้ไขข้อกังวลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว
สำหรับความคิดเห็นของผู้ปกครองนั้น พบว่าผู้ปกครองส่วนหนึ่งมีความสุขกับนโยบาย อีกส่วนหนึ่งมีความกังวลว่าหากลดเวลาเรียนในห้องเรียนแล้ว ลูกหลานจะมีความรู้ไม่เพียงพอในการสอบเลื่อนชั้นหรือสอบเข้าศึกษาต่อ ซึ่งข้อกังวลดังกล่าวไม่ได้เกินความคาดหมาย เพราะกระทรวงศึกษาธิการคำนึงถึงปัญหานี้ไว้ก่อนแล้วตั้งแต่เริ่มต้นนโยบาย ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการมีวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการประสานงานกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดทำข้อสอบต่างๆ ในระดับชาติ เช่น NT หรือ O-NET เป็นต้น โดยกระทรวงศึกษาธิการได้แจ้งให้ สทศ. ดำเนินการออกข้อสอบให้อยู่ในกรอบความรู้ที่เป็นแกนกลางหรือที่เป็นเนื้อหาหลักเท่านั้น อีกทั้ง สทศ. ต้องมั่นคงและชัดเจนในเนื้อหาที่จะนำมาออกข้อสอบ เพื่อให้ผู้ปกครองและครูสบายใจ กล่าวคือ ครูจะได้จัดการเรียนการสอนให้ตรงกับสิ่งที่เด็กต้องรู้ในแต่ละช่วงชั้น เนื่องจากชั่วโมงเรียนในห้องเรียนที่ลดลงตามนโยบายนี้ ถือว่าพอเพียงสำหรับการสอนที่เป็นตัวชี้วัดหลักหรือเนื้อหาหลักที่เป็นตัวชี้วัดอยู่แล้ว แต่การจัดการเรียนการสอนที่ผ่านมาเรานำเรื่องที่ต้องรู้และเรื่องที่ควรรู้ไปจัดไว้รวมกันในห้องเรียนทั้งหมด
ดังนั้น นโยบายนี้จะชี้ให้เห็นว่า "เรื่องที่ต้องรู้" เช่น เนื้อหาทางวิชาการ จะนำมาจัดการเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อให้เด็กสามารถนำมาปรับใช้ (Apply) ได้ ส่วน "เรื่องที่ควรรู้" ไม่ควรนำไปอัดให้เด็กในห้องเรียน แต่ให้นำเรื่องดังกล่าวไปสอนในช่วงกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้แทน
ในส่วนของแผนการดำเนินนโยบายปีการศึกษา 2559 นั้น จะมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ อีก 15,000 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เข้าร่วมด้วยความสมัครใจ ดังนั้น ครูต้องทำงานหนักในช่วงปิดภาคเรียนเพื่อเตรียมความพร้อม ทั้งนี้ โรงเรียนกว่า 3,800 แห่งที่เข้าร่วมโครงการในปีการศึกษา 2558 พร้อมทั้ง Smart Trainer จะต้องทำการประเมินแล้วสรุปผลการดำเนินงานตามนโยบายว่ามีข้อดีและข้อด้อยในส่วนใดบ้าง เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับใช้กับอีก 15,000 โรงเรียนที่จะเข้าร่วมในปีการศึกษา 2559 นอกเหนือจากนั้นควรนำผลการดำเนินงานไปแก้ปัญหากับโรงเรียนที่นำร่องมาแล้วด้วย และจะมีการจับคู่โรงเรียนที่เข้าร่วมนโยบายกับโรงเรียนที่จะเข้าร่วมนโยบายในปีการศึกษาต่อไปด้วย เพื่อร่วมกันให้คำปรึกษาและแนะนำการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามนโยบายต่อไป
นอกจากนี้ ในปีการศึกษา 2559 จะมีการพัฒนากิจกรรมต่างๆ ให้ง่ายขึ้น และไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย โดยสามารถใช้กิจกรรมในท้องถิ่นเพื่อสอนให้เด็กได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ พร้อมทั้งเน้นการฝึกทักษะ 4 ด้าน Head Heart Hands Health โดยการพัฒนา 4 H จะเน้นการเสริมทักษะด้านอาชีพมากขึ้น เพื่อให้เด็กรู้ว่าตัวเองชอบอะไร และต้องการศึกษาต่อในสายอาชีพหรือสายสามัญ
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าการพัฒนาทักษะด้าน Heart Hands และ Health ดำเนินการได้ดีแล้ว จึงได้เน้นย้ำและให้น้ำหนักกับการพัฒนาทักษะที่สำคัญที่สุด คือ ทักษะด้าน Head ซึ่งต้องพัฒนาเด็กให้สามารถจำ เข้าใจ ใช้งาน วิเคราะห์ และประเมินตนเองได้ เพราะเด็กไทยมีปัญหาขาดการคิดวิเคราะห์ หากเด็กรู้จักการคิดวิเคราะห์ก็จะสามารถทำข้อสอบได้ อีกทั้งข้อสอบของต่างประเทศ เช่น PISA ยังเป็นข้อสอบเชิงวิเคราะห์ไม่ใช่การท่องจำ จึงฝากครูให้ความสำคัญกับการพัฒนา Head ที่จะช่วยพัฒนาการคิดวิเคราะห์ของเด็ก นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้สนับสนุนให้นำเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษในกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ด้วย
นอกเหนือจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับโรงเรียนที่ยังมีจุดอ่อนหรือปัญหาในการดำเนินการด้านต่างๆ ที่มีสาเหตุของปัญหา อาทิ โรงเรียนที่มีจำนวนครูน้อยทำให้ครูไม่ครบชั้น เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการทดสอบต่ำ จึงต้องทำให้โรงเรียนเหล่านี้แข็งแรงขึ้นมา โดยถือเป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องดูแล จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าไปดูแลเป็นรายโรงเรียน เพราะบางโรงเรียนมีศักยภาพไม่พอที่จะแก้ปัญหา สพฐ.จึงต้องไปเติมเต็มให้ เช่น ให้ศึกษานิเทศก์ซึ่งเป็น Smart Trainer เข้าไปช่วยดำเนินการแก้ไข เป็นต้น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงศึกษาธิการกำลังเฝ้ารอผลการทดสอบ O-NET ของนักเรียนในโรงเรียนที่เข้าร่วมนโยบายนี้ แต่เนื่องจากเพิ่งเริ่มดำเนินการ ถือเป็นช่วงเริ่มต้นของนโยบาย ทำให้ครู นักเรียน และทุกคนต้องปรับตัว ดังนั้นผลสอบ O-NET ที่ออกมาอาจจะยังไม่ใช่ตัวชี้วัดได้จริง เนื่องจากการทำให้คะแนน O-NET จะสูงขึ้นมาภายในระยะเวลาอันสั้น คงเป็นไปไม่ได้ แต่เชื่อว่าในระยะยาวจะทำให้ผลการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยดีขึ้นอย่างแน่นอน
Post Views: 6,716