Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 59/2559 ผลประชุมหารือคณะทำงานด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการพัฒนาผู้นำ (Human Capital Development)

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 59/2559 ผลประชุมหารือคณะทำงานด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการพัฒนาผู้นำ (Human Capital Development)

687621

โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐของคณะทำงานด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (Human Capital Development)

ของคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (PublicPrivate Steering Committee) ประชุมหารือกับภาคเอกชน นำโดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน เมื่อวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ห้องฟอร์จูน 3 โดยมีนายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ, คณะทำงานกลุ่มย่อย ตลอดจนผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม กว่า 100 คน ร่วมประชุมหารือ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมร่วมกันครั้งที่ 3 ของคณะทำงานประชารัฐด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับ "กรอบการดำเนินการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ (Thailand Education Transformation Framework)" โดยมีเป้าหมาย คือ ภาคเอกชนจะเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 7,424 แห่ง

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบกำหนดบทบาทภารกิจของคณะทำงานกลุ่มย่อยใน 5 ด้าน คือ

กลุ่มย่อยที่ 1 : คณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับคุณภาพทางการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสถานศึกษา และการเปิดเผยข้อมูลตามหลักธรรมาภิบาล (Transparency, Monitoring, Evaluation, Digital Infrastructure and Media High Standard Education Accessibility) โดยมีภารกิจหลักเกี่ยวกับการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการจัดการศึกษา การบริหารงบประมาณ และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย ตรวจสอบได้ และมีความโปร่งใส ทำให้ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้อย่างตรงประเด็น นอกจากนี้ จะมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปช่วยในการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกล

กลุ่มย่อยที่ 2 : คณะทำงานพัฒนาหลักสูตร ต้นแบบกระบวนการเรียนรู้ การประเมินผลกิจกรรมส่งเสริมด้านคุณธรรม จิตสาธารณะ และด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ (Curriculum, Teaching Technique and Manual, English Language Capability, Health, Heart and Ethics) มีภารกิจหลัก คือ การกำหนดนโยบายและออกแบบการจัดกระบวนการเรียนการสอน กิจกรรม การถอดบทเรียน (Best Practice) ที่เป็นต้นแบบการจัดการศึกษาจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อจัดทำคู่มือการจัดการเรียนการสอน และพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งออกแบบหลักสูตรที่ส่งเสริมการพัฒนาด้านคุณธรรม เพราะเด็กที่มีจิตใจดีจะทำให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งดำเนินการได้โดยการให้นักเรียนมีส่วนร่วมและเข้าไปสัมผัสกับ Social Service หรือ Community Service มากขึ้น นอกจากนี้มีภารกิจด้านการยกระดับและพัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอนภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักเรียนสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยภาคเอกชนพร้อมให้การส่งบุคลากรที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนการสอน

กลุ่มย่อยที่ 3 : คณะทำงานด้านพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ครู และการมีส่วนร่วมของชุมชน (Market Mechanism, Engagement Parents and Community, Funds, High Quality Principles and Teachers Leadership) โดยมีภารกิจในการจัดทำหลักสูตรและอบรมผู้นำสถานศึกษา เพื่อให้มีสมรรถนะความเป็นผู้นำในการบริหารสถานศึกษา อีกทั้งจะดำเนินการจัดหลักสูตรและอบรมครู เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกหรือพี่เลี้ยง (Facilitators) ในเชิงวิชาการ ช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เช่น กระตุ้นให้เด็กตั้งคำถาม และเสริมสร้างทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการศึกษา และเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ จากทุกภาคส่วนร่วมสนับสนุนงบประมาณ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างยั่งยืน

กลุ่มย่อยที่ 4 : คณะทำงานด้านพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และการสร้างแรงจูงใจให้กับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ (Local and International Teachers, University Partnership and Incentive) โดยมีภารกิจในการประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างองค์ความรู้และพัฒนากระบวนการเรียนการสอนตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มย่อยที่ 5 : คณะทำงานพัฒนาความเป็นเลิศในด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต และสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมของผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาค (Technology Mega Trends Hub R&D and Young Leadership Development) มีภารกิจผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาของอาเซียน ในการค้นคว้า วิจัย เพื่อให้เกิดการสร้างงานในสาขาอาชีพด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต พร้อมทั้งส่งเสริมผู้นำรุ่นใหม่ตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา ด้วยการให้ทุนการศึกษาต่อในต่างประเทศ และกลับมาตอบแทนสังคมไทย รวมทั้งสนับสนุนนักวิจัยในการสร้างนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ

การประชุมครั้งนี้ จึงได้หารือถึงความก้าวหน้าของคณะทำงานกลุ่มย่อยทั้ง 5 ด้านดังกล่าว และแนวทางการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ รวมทั้งเห็นชอบให้มีห้องปฏิบัติการถาวรสำหรับคณะทำงานกลุ่มย่อย ณ อาคารทรูทาวเวอร์ ถนนรัชดาภิเษก


รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ กล่าวว่า "โครงการโรงเรียนประชารัฐ" ซึ่งภาคเอกชนจะเข้าช่วยสนับสนุนให้เป็นโรงเรียนต้นแบบจำนวน 7,424 แห่งนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริหารสถานศึกษาและครู ในประเด็นสำคัญที่ภาคเอกชนต้องการ คือ การสร้างความโปร่งใสเกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานศึกษาให้สามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ภาคเอกชนต้องการข้างต้น โดยหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกต้นแบบนั้น ขอให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนที่จะต้องดำเนินการตามกรอบ ดังนี้

1. การรับสมัครโรงเรียนเพื่อเข้าร่วมโครงการตำบลละ 1 โรงเรียน ขอให้มีเกณฑ์การคัดเลือกโรงเรียนอย่างชัดเจน จากนั้นสำรวจสภาพปัญหา และความต้องการในการพัฒนาของโรงเรียน
2. มีการถอดบทเรียนจากโรงเรียนต้นแบบต่างๆ เพื่อนำมาจัดทำต้นแบบกระบวนการเรียนรู้ และคู่มือการจัดการเรียนรู้ นอกจากนี้มีแนวทางในการจัดทำหลักสูตรเพื่ออบรมครู และอบรมผู้บริหารสถานศึกษา, รวมทั้งออกแบบการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น, จัดทำระบบสำหรับบันทึกข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศของสถานศึกษา, รวบรวมและจัดทำคลังสื่อการเรียนรู้ ตลอดจนดำเนินการเพื่อสร้างแรงจูงใจในการสนับสนุนการพัฒนาการศึกษา
3. การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
4. ทำ Mapping โรงเรียนกับภาคเอกชน และภาคประชาสังคม พร้อมทั้งประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจกับเขตพื้นที่และสถานศึกษา
5. ดำเนินการพัฒนาโรงเรียน โดยการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานตามความจำเป็น จัดกระบวนการเรียนรู้ตาม Model ที่เหมาะสมกับสภาพโรงเรียน และจัดทำข้อมูลระบบสารสนเทศโรงเรียน อีกทั้งอบรมผู้บริหาร ครู เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้และการใช้สื่ออย่างมีประสิทธิภาพ
6. จัดทำระบบติดตาม ประเมินผล และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
7. ประเมินผลสัมฤทธิ์ ของการดำเนินงานห้วงที่ 1

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้เห็นพ้องกันถึงกรอบความร่วมมือที่จะจัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ภายใต้ชื่องาน “สานพลังประชารัฐเพื่อการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้นำ” ซึ่งจะมีองค์กรต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วม