สาธารณรัฐอินโดนีเซีย – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมหารือเชิงยุทธศาสตร์ระดับรัฐมนตรีศึกษาของซีมีโอ (Strategic Dialogue for Education Ministers : SDEM) ครั้งที่ 2 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2559 ณ ห้อง Champaca โรงแรม Padma เมืองบันดุง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนของสภาซีเมค ผมขอขอบคุณอย่างจริงใจต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมอินโดนีเซีย และรัฐบาลอินโดนีเซียในการจัดประชุมครั้งนี้ ผมเชื่อมั่นว่าเวทีนี้เป็นการเปิดโอกาส ให้เราได้แลกเปลี่ยนความสนใจ และข้อคิดเห็นที่เป็นแนวทาง ในการผลักดันวาระการศึกษา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ของคนรุ่นต่อไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
องค์การซีมีโอ ในฐานะองค์การที่ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างยาวนาน และมีพันธกิจสำคัญในการให้บริการด้านการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของภูมิภาคมากว่า 50 ปี ผมในนามผู้แทนประเทศไทยมีความภูมิใจในพันธกิจ ซึ่งสืบทอดจากอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย คือ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งองค์การซีมีโอ
นับตั้งแต่การประชุมครั้งแรก เราได้ข้อมูลประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมากและมีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่องกว่า 50 ปี
ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์การซีมีโอ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษา และการเรียนรู้ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการเปลี่ยนแปลงประชากรในภูมิภาค และก่อให้เกิดวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล (จำนวนประชากรในปัจจุบันมีมากกว่า 600 ล้านคน) ดังนั้น ในทุกวันนี้ เราจะเห็นได้ว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถแข่งขันในระดับโลก มีผลผลิตที่มีคุณภาพสูง และมีประชาชนที่มีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดี นอกจากนี้ ความสำเร็จของภูมิภาคยังนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งองค์การซีมีโอจะต้องนำความน่าเชื่อถือนี้ไปใช้ในการสนับสนุนความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เกษตรกรรม และสาธารณสุข
ในขณะเดียวกัน เราตระหนักถึงความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในทศวรรษข้างหน้านี้อีกด้วย รวมถึงการมีประชากรที่มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก การปกครอง ระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศ และประเพณี ภาษา วัฒนธรรม หรือความเชื่อ ภัยคุกคามต่างๆ ที่มีเพิ่มมากขึ้นในโลกปัจจุบัน และจำเป็นต้องมีการรับมือ ได้แก่ การพัฒนาการเตรียมความพร้อม เพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม และอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค สันติภาพ และความมั่งคั่งในภูมิภาค จะมีความก้าวหน้าด้วยพลเมืองที่มีความรอบรู้ ซึ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในกลุ่มเศรษฐกิจที่มีพลวัตมากที่สุดในเวทีนานาชาติ นอกจากนี้ ความท้าทายเรื่องหนึ่งคือ การรักษาไว้ซึ่งสภาพแนวโน้มทางเศรษฐกิจ
ในระหว่างการประชุมโต๊ะกลม ผมขอสนับสนุนให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการทุกท่าน ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานตามประเด็นสำคัญด้านการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำไปสู่ความมั่นคง ความมั่งคั่ง และความยั่งยืน โดยได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของคนไทย เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการศึกษา
นอกจากนี้ ประเทศไทยได้บูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการจัดการศึกษา ผ่านการเรียนรู้ทางออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (DLIT) และการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการศึกษาที่มีความเสมอภาค เรามีมูลนิธิการศึกษาทางไกลซึ่งถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียงจากโรงเรียนวังไกลกังวลสู่โรงเรียนมัธยมศึกษาในประเทศไทย
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการให้นักเรียนได้มีความรู้เกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยจัดโครงการสะเต็มศึกษา และส่งเสริมให้นักเรียนเข้าไปมีส่วนในการทำกิจกรรมที่เน้นการฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ ตลอดจนมุ่งหวังให้ครูลดจำนวนชั่วโมงการสอนให้น้อยลง และเน้นส่งเสริมให้นักเรียนศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมนอกห้องเรียนมากยิ่งขึ้น และนี่คือเหตุผลที่เราได้กำหนดนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" เพื่อให้สถานศึกษาของไทยได้เตรียมพร้อมแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้เรียนในการพัฒนาความคิดเชิงวิเคราะห์
นอกจากนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยังมีความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลไทยได้กำหนดนโยบาย ชื่อว่า "ประชารัฐ" ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ข้างต้น จำเป็นที่จะต้องมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน ชุมชน และสังคม ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพของคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ คณะกรรมการชุดนี้มีภารกิจที่สำคัญในหลายๆ ด้านได้แก่ การฝึกอบรมและการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในสาขาอาชีวศึกษา การพัฒนาหลักสูตร และกระบวนการเรียนรู้ของการศึกษาขั้นพื้นฐาน การปรับปรุงเครือข่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระบบการศึกษา การส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาระดับมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
การประชุมหารือเรื่องยุทธศาสตร์ระดับรัฐมนตรีศึกษาของซีมีโอ ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2557 ซึ่งจัดขึ้นที่ สปป. ลาว เราได้เห็นพ้องในเรื่องประเด็นสำคัญด้านการศึกษาทั้ง 7 ประเด็น สำหรับการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอและสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ จะร่วมกันผลักดันประเด็นสำคัญดังกล่าว เพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติการ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ของซีมีโอ ที่มีภารกิจมุ่งเน้นในเรื่องวิทยาศาสตร์ สาธารณสุข และวัฒนธรรม ให้การสนับสนุนและประสานความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อดำเนินงานตามประเด็นสำคัญด้านการศึกษาทั้ง 7 ประเด็น ให้บรรลุผลตามเป้าหมายการพัฒนาการศึกษาในภูมิภาค ผมหวังว่า แผนดำเนินงานที่เราจะทำร่วมกับสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ จะนำไปสู่การดำเนินความร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างประเทศสมาชิกซีมีโอ ในการพัฒนาการศึกษาของภูมิภาคเรา
ประเด็นสำคัญในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาของการประชุมครั้งที่แล้ว ระบุว่า มีเด็กในวัยเรียนจำนวนหลายล้านคนไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษา ดังนั้น ผมหวังว่า ในการประชุมสภาซีเมคครั้งต่อไป ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรมของอินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพ และพวกเราจะได้มาพบกันอีกครั้ง เราจะได้ร่วมกันอภิปรายถึงวิธีการลดจำนวนเด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน การเข้าถึงการส่งเสริมการจัดการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัยอย่างทั่วถึง การปฏิรูประบบการพัฒนาครูและส่งเสริมบทบาทของครูในชุมชน
ผมมั่นใจว่า ความเชี่ยวชาญในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ของซีมีโอ และศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอ จำนวน 21 แห่ง จะทำให้การดำเนินการของเรา เป็นไปตามทิศทางที่เรากำหนดไว้ โดยเฉพาะการเสริมสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็ง ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อความเป็นประชาคมอาเซียน และก่อให้เกิดการบูรณาการระดับโลก โดยเรื่องเหล่านี้จะบรรลุผลได้ด้วยความร่วมมือ ระหว่างพวกเราในภูมิภาค ซึ่งจัดเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งองค์การซีมีโอด้วย
อนึ่ง ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของภูมิภาคนั้น เราในฐานะมิตรประเทศควรผนึกความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนแนวทางที่ดีระหว่างกัน ผมให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย และแนวปฏิบัติที่ดีด้านการศึกษา ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวอย่างเช่น สาธารณรัฐสิงคโปร์ ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการดำเนินยุทธศาสตร์การสอนเพื่อให้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 และประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีโมเดลในการจัดการศึกษาพหุวัฒนธรรม นอกจากนี้ ผมขอชื่นชมแนวทางในการบริหารจัดการด้านการศึกษาของประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้มีการนำระบบการเรียนรู้ทางไกลไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนของประเทศตามหมู่เกาะต่างๆ เพื่อเชื่อมไปสู่ยุคดิจิทัล ดังนั้น จากตัวอย่างเหล่านี้ เราสามารถเรียนรู้จากประเทศอื่นโดยนำแนวทางที่ดีมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศของเรา และหากศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอสามารถชี้แนะแนวทางให้แก่ประเทศในภูมิภาคของเรา ก็จะส่งผลที่เป็นประโยชน์ต่อการนำแนวปฏิบัติที่ดีไปใช้ในการพัฒนาการศึกษาเพื่อประโยชน์ในการพัฒนามนุษย์ของภูมิภาคเราต่อไป
ผมเชื่อมั่นว่า ความตั้งใจที่จะแบ่งปัน สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และลงมือทำ เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ ดังสุภาษิตที่ว่า "การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาได้อย่างมีคุณภาพนั้น ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านช่วยกัน" บัดนี้ได้เวลาอันสมควร ขอเปิดการประชุมหารือเชิงยุทธศาสตร์ในครั้งนี้
ขอบคุณ : ข้อมูลสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน
นวรัตน์ รามสูต ถ่ายภาพ
28/4/2559